วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ข้อควรรู้ทั่วไปในการใช้ยาสมุนไพร (6)


๖. การเทียบปริมาตรและปริมาณ

๑ กำมือ มีปริมาณเท่ากับสี่หยิบมือ หรือหมายความถึง ปริมาณของสมุนไพรที่ได้จากการใช้มือเพียงข้างเดียวกำโดยให้ปลายนิ้วจรดอุ้งมือโหย่ง ๆ

๑ กอบมือ มีปริมาณเท่ากับ สองฝ่ามือ หรือหมายความถึงปริมาณของสมุนไพรที่จากการใช้มือทั้งสองข้างกอบเข้าหากันให้ส่วนของปลายนิ้วแตะกัน

๑ ถ้วยแก้ว มีปริมาตรเท่ากับ ๒๕๐ มิลลิลิตร

๑ ถ้วยชา มีปริมาตรเท่ากับ ๗๕ มิลลิลิตร

๑ ช้อนโต๊ะ มีปริมาตรเท่ากับ ๑๕ มิลลิลิตร

๑ ช้อนคาว มีปริมาตรเท่ากับ ๘ มิลลิลิตร

                        ๑ ช้อนชา มีปริมาตรเท่ากับ ๕ มิลลิลิตร



ข้อควรรู้ทั่วไปในการใช้ยาสมุนไพร (5)


๕.  ความหมายของคำที่ควรทราบ

ใบเพสลาด หมายถึง ใบไม้ที่จวนแก่

ทั้งห้า หมายถึง ส่วนของ ราก ต้น ผล ใบ ดอก

เหล้า หมายถึง เหล้าโรง (28 ดีกรี)

แอลกอฮอล์ หมายถึง แอลกอฮอล์ชนิดสีขาวสำหรับผสมยา ห้ามใช้แอลกอฮอล์ชนิดจุดไฟ

น้ำปูนใส หมายถึง น้ำยาที่ทำขึ้นโดยการนำปูนที่รับประทานกับหมากมาละลายน้ำสะอาดตั้งทิ้งไว้ แล้วรินน้ำใสมาใช้

ต้มเอาน้ำดื่ม หมายถึง ต้มสมุนไพรด้วยการใส่น้ำพอประมาณ หรือสามเท่าของปริมาณที่ต้องการใช้ ต้มพอเดือดอ่อน ๆ ให้เหลือ ๑ ส่วนจาก ๓ ส่วนข้างต้น รินเอาน้ำดื่มตามขนาด

ชงน้ำดื่ม หมายถึง ใส่น้ำเดือดหรือน้ำร้อนจัดลงบนสมุนไพรที่อยู่ในภาชนะปิดฝา ทิ้งไว้สักครู่จึงใช้ดื่ม


ข้อควรรู้ทั่วไปในการใช้ยาสมุนไพร (4)


          ๔.  อาการแพ้ที่เกิดจากสมุนไพร

          สมุนไพรมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับยาทั่วไป คือทั้งมีคุณและโทษ บางคนใช้แล้วเกิดแพ้ได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อยเพราะสมุนไพรมิใช่สารเคมีชนิดเดียวเช่นยาแผนปัจจุบัน ฤทธิ์จึงไม่รุนแรง (ยกเว้นพวกพืชพิษบางชนิด) แต่ถ้าเกิดอาการแพ้ขึ้นควรหยุดยาเสียก่อน ถ้าหยุดแล้วอาการหายไป อาจทดลองใช้ยาอีกครั้งโดยระมัดระวัง ถ้าอาการเช่นเดิมเกิดขึ้นอีก แสดงว่าเป็นพิษของยาสมุนไพรแน่ ควรหยุดยาและเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น หรือถ้าอาการแพ้รุนแรงควรไปรับการรักษาที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาล

           อาการที่เกิดจากการแพ้ยาสมุนไพร มีดังนี้

                ๔.๑ ผื่นคันตามผิวหนัง อาจเป็นตุ่มเล็ก ๆ ตุ่มโต ๆ เป็นปื้น หรือเป็นเม็ดแบนคล้ายลมพิษ 
                        อาจบวมที่ตา (ตาปิด)  หรือริมฝีปาก (ปากเจ่อ) หรือมีเพียงดวงสีแดงที่ผิวหนัง

                ๔.๒ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน (หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง) ถ้ามีอยู่ก่อนกินยา อาจเป็น
                        เพราะโรค

                ๔.๓ หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง

                ๔.๔ ประสาทความรู้สึกทำงานไวเกินปกติ เช่นเพียงแตะผิวหนังก็รู้สึกเจ็บ ลูบผมก็แสบ
                        หนังศรีษะ ฯลฯ

                ๔.๕ ใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อย ๆ

                            ๔.๖ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลือง เขย่าเกิดฟองสีเหลือง (เป็นอาการของดี
                                    ซ่าน) อาการนี้แสดงถึงอันตรายร้ายแรง ต้องรีบไปหาแพทย์

ข้อควรรู้ทั่วไปในการใช้ยาสมุนไพร (3)


๓.      ข้อแนะนำในการใช้สมุนไพร

๓.๑ ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรมีชื่อพ้อง หรือซ้ำกันมากและบางท้องถิ่นก็เรียกไม่เหมือนกัน จึงต้องรู้จักสมุนไพร และใช้ให้ถูกต้น

๓.๒ ใช้ให้ถูกส่วน ต้นสมุนไพรไม่ว่าจะเป็นราก ใบ ดอก เปลือก ผล เมล็ด จะมีฤทธิ์ไม่เท่ากัน บางทีผลแก่ ผลอ่อนก็มีฤทธิ์ต่างกันด้วย จะต้องรู้ว่าส่วนใดใช้เป็นยาได้

๓.๓ ใช้ให้ถูกขนาด สมุนไพรถ้าใช้น้อยไป ก็รักษาไม่ได้ผล แต่ถ้ามากไปก็อาจเป็นอันตราย หรือเกิดพิษต่อร่างกายได้

๓.๔ ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรบางชนิดต้องใช้สด บางชนิดต้องปนกับเหล้า บางชนิดใช้ต้มจะต้องรู้วิธีใช้ให้ถูกต้อง

๓.๕ ใช้ให้ถูกกับโรค เช่น ท้องผูกต้องใช้ยาระบาย ถ้าใช้ยาที่มีฤทธิ์ฝาดสมานจะทำให้ท้องผูกยิ่งขึ้น

                  นอกจากนั้น ยังต้องระมัดระวังในเรื่องความสะอาด ในการเก็บยา และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำยาจะต้องสะอาดด้วย

ข้อควรรู้ทั่วไปในการใช้ยาสมุนไพร (2)


๒.      กลุ่มอาการ/โรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร

เป็นโรคร้ายแรง โรคเรื้อรัง หรือโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพรได้ เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด บาดทะยัก กระดูกหัก มะเร็ง วัณโรค กามโรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเรื้อน ดีซ่าน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดบวม อาการบวม ไทฟอยด์ โรคตาทุกชนิด

ข้อควรรู้ทั่วไปในการใช้ยาสมุนไพร (1)


๑.      กลุ่มอาการ/โรคที่แนะนำให้ใช้สมุนไพร

ปัจจุบันการใช้สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน ส่งเสริมและเผยแพร่การใช้สมุนไพรตัวเดี่ยวเพื่อรักษาโรค/อาการเบื้องต้นที่พบบ่อย ๆ และเนื่องจากสมุนไพรหลายชนิดเป็นพืชผักที่รับประทานอยู่เป็นประจำ จึงแนะนำไว้ในการส่งเสริมสุขภาพด้วย (รวมทั้งสีผสมอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ)

กลุ่มโรค/อาการเบื้องต้นที่แนะนำให้ใช้สมุนไพรมี ๑๘ โรค/อาการ ดังนี้

ก.      อาการท้องผูก
ข.       อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด
ค.      อาการท้องเสีย (แบบไม่รุนแรง)
ง.       พยาธิลำไส้
จ.       บิด
ฉ.      อาการคลื่นไส้ อาเจียน (เหตุจากธาตุไม่ปกติ)
ช.       อาการไอ ขับเสมหะ
ซ.       อาการไข้
ฌ.     อาการขัดเบา (คือปัสสาวะไม่สะดวก กะปริบกะปรอยแต่ไม่มีอาการบวม)
ญ.    โรคกลาก
ฎ.      โรคเกลื้อน
ฏ.      อาการนอนไม่หลับ
ฐ.       ฝี แผลพุพอง (ภายนอก)
ฑ.     อาการเคล็ดขัดยอก (ภายนอก)
ฒ.    อาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย (ภายนอก)
ณ.    แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ภายนอก)
ด.      เหา
ต.      ชันนะตุ

หากเป็นโรค/อาการเหล่านี้ให้ใช้สมุนไพรที่แนะนำ และหยุดใช้เมื่ออาการหายไป ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน ๒ ๓ วัน ควรไปปรึกษาสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล

ถ้าผู้ป่วยมีอาการโรค/อาการดังกล่าว แต่เป็นอาการที่รุนแรง ต้องนำผู้ป่วยส่งโรคพยาบาลทันที ไม่ควรรักษาด้วยการซื้อยารับประทานเอง หรือใช้สมุนไพร อาการที่รุนแรงมีดังนี้

๑.      ไข้สูง (ตัวร้อนจัด) ตาแดง ปวดเมื่อยมาก ซึม บางทีพูดเพ้อ (อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือไข้ป่าชนิดขึ้นสมอง)

๒.      ไข้สูงและดีซ่าน (ตัวเหลือง) อ่อนเพลียมาก อาจเจ็บในแถวชายโครง (อาจเป็นโรคตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ฯลฯ)

๓.      ปวดแถวสะดือ เวลาเอามือกดเจ็บปวดมากขึ้น หน้าท้องแข็ง อาจท้องผูกและมีไข้เล็กน้อย หรือมาก (อาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างแรง หรือลำไส้ส่วนอื่นอักเสบ)

๔.      เจ็บแปลบในท้องคล้ายมีอะไรฉีกขาด ปวดท้องรุนแรงมาก อาจมีตัวร้อนและมีคลื่นไส้อาเจียนด้วย บางทีมีประวัติปวดท้องบ่อย ๆ มาก่อน (อาจมีการทะลุของกระเพาะอาหารหรือลำไส้)

๕.      อาเจียนเป็นโลหิตหรือไอเป็นโลหิต (อาจเป็นโรคร้ายแรงของกระเพาะอาหารหรือปอด) ต้องให้คนไข้นอนพักนิ่ง ๆ ก่อน ถ้าแพทย์อยู่ใกล้ควรเชิญมาตรวจที่บ้าน ถ้าจำเป็นต้องพาไปหาแพทย์ ควรรอให้เลือดหยุดเสียก่อน และควรพาไปโดยมีการกระเทือนกระแทกน้อยที่สุด

๖.      ท้องเดินอย่างแรง อุจจาระเป็นน้ำ บางทีมีลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว บางทีถ่ายพุ่ง ถ่ายติดต่อกันอย่างรวดเร็ว คนไข้อ่อนเพลียมาก ตาลึก หนังแห้ง (อาจเป็นอหิวาตกโรค) ต้องพาไปหาแพทย์โดยด่วน ถ้าไปไม่ไหวต้องแจ้งแพทย์หรืออนามัยที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

๗.      ถ่ายอุจจาระเป็นมูกและเลือด บางทีเกือบไม่มีเนื้ออุจจาระเลย ถ่ายบ่อยมาก อาจจะตั้งสิบครั้งในหนึ่งชั่วโมง คนไข้เพลียมาก (อาจเป็นโรคบิดอย่างรุนแรง)

๘.      สำหรับเด็ก โดยเฉพาะอายุภายในสิบสองปี ไข้สูง ไอมาก หายใจมีเสียงผิดปกติคล้าย ๆ กับมีอะไรติดอยู่ในคอ บางทีมีอาการหน้าเขียวด้วย (อาจเป็นโรคคอตีบ) ต้องรีบพาไปหาแพทย์โดยด่วนที่สุด

๙.      อาการตกเลือดเป็นเลือดสด ๆ จากทางไหนก็ตาม โดยเฉพาะทางช่องคลอด ต้องพาไปหาแพทย์โดยเร็วที่สุด


วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการเตรียมยาสมุนไพร (ยาดองเหล้า)


ยาดองเหล้า

ยาดองเหล้าเป็นยาที่เตรียมขึ้นเพราะเหตุว่า สาระสำคัญในสมุนไพรนั้นจะละลายได้ดีในเหล้าหรือแอลกอฮอล์

ยาดองเหล้ามีวิธีการเตรียมดังนี้

๑.      นำเอายาที่ล้างสะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากหรืออบจนแห้ง (โดยปกติจะมีน้ำไม่เกิน ๕ %) ใส่ลงในขวดโหลหรือไห เทน้ำเหล้าลงพอท่วมยา คนยาวันละหนึ่งครั้ง ทิ้งไว้หนึ่งเดือนจึงใช้ได้

๒.      บางครั้งใช้วิธีการดองแบบร้อน การดองแบบร้อนทำให้ยาใช้ได้เร็ว (ปกติการดองเหล้าต้องทิ้งไว้นาน ส่วนการดองเหล้าแบบร้อนใช้เวลา ๑๒ สัปดาห์ก็ใช้ได้) ทำได้โดยเทน้ำเหล้าใส่ตัวยาที่ต้องการดองพอท่วมยา นำภาชนะที่ใส่ยาดองเหล้า (ส่วนใหญ่ใช้ขวด) วางลงในหม้อที่ใส่น้ำไว้ ต้มน้ำให้เดือด แล้วเอาภาชนะที่ใส่ยาดองเหล้าขึ้น ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ ๑ ๒ สัปดาห์นำมาใช้ได้ หรืออาจใช้วิธีเตรียมแล้วนำไปตากแดดก็ได้ ในช่วงตากแดดคนยาวันละครั้ง จนกว่าจะครบเวลาดอง นำมาใช้ได้

๓.      วิธีการที่แนะนำข้างต้นเป็นการเตรียมยาดองเหล้าไว้รับประทาน รูปแบบยาอีกชนิดหนึ่งคือยาพอก เป็นการใช้น้ำเหล้าเป็นน้ำกระสายยา โดยเอาสมุนไพรสดตำให้ละเอียด และเติมน้ำเหล้าเพื่อให้ยามีฤทธิ์ดีขึ้นจากนั้นจึงนำยาที่ได้ไปพอกตามอวัยวะที่ต้องการ

หมายเหตุ ยาดองเหล้าห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูง หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจและผู้ป่วยที่แพ้เหล้า


เทคนิคการเตรียมยาสมุนไพร (ยาลูกกลอน)


ยาลูกกลอน

ยาลูกกลอนเป็นรูปแบบหนึ่งของยาสมุนไหรมีรูปร่างกลม ทำจากผงยาชนิดเดียวหรือหลายชนิด ผสมกับสารที่ทำให้ยาเกาะตัว เช่น น้ำ น้ำแป้ง น้ำผึ้ง เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวเพียงยาลูกกลอนน้ำผึ้ง เท่านั้น

ยาลูกกลอนน้ำผึ้งเป็นยาลูกกลอนที่ทำจากผงยา และน้ำผึ้งผสมกัน มีลักษณะกลม มีน้ำอยู่น้อย การแตกตัวช้า ออกฤทธิ์ได้นาน น้ำผึ้งที่ใช้ผสมช่วยปรับรสและช่วยบำรุงร่างกายด้วย มักใช้เป็นยารักษาโรคเรื้อรัง และโรคที่ต้องการบำรุงด้วย แต่มีข้อเสียที่ยาลูกกลอนน้ำผึ้งใช้น้ำผึ้งจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนสูง

วิธีการเตรียมยาลูกกลอนน้ำผึ้ง มีกรรมวิธีและเทคนิคที่จะทำให้ยาลูกกลอนเป็นเม็ดสวยได้ แบ่งออกเป็นขั้นตอน ๓ ขั้น ดังนี้
๑.      ขั้นตอนเคี่ยวน้ำผึ้ง ขั้นตอนนี้นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก การเคี่ยวน้ำผึ้งมีประโยชน์ที่ช่วยฆ่าเชื้อโรค และไล่น้ำที่อยู่ในน้ำผึ้ง ทำให้ลูกกลอนไม่ขึ้นรา การเคี่ยวน้ำผึ้งทำได้โดย

     ๑.๑ เทน้ำผึ้งใส่หม้อขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้ โดยทั่วไปอัตราส่วนระหว่างน้ำผึ้งต่อยาผงที่จะใช้ผสมเป็น ๑ : ๑ (โดยน้ำหนัก) แต่อัตราส่วนนี้เป็นการประมาณ การใช้น้ำผึ้งมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะของผงยา

     ๑.๒ นำหม้อที่ใส่น้ำผึ้งขึ้นตั้งไฟ ช่วงแรกใช้ไฟแรง และใช้น้ำเดือดปริมาณ ๑/๓ /๔ ของน้ำหนักน้ำผึ้งลงไปในหม้อ คนให้เข้ากันและเคี่ยวจนน้ำผึ้งเหนียวได้ที่โดยดูจากลักษณะดังนี้คือ

        ตอนแรกที่น้ำผึ้งเดือดฟองจะใหญ่และผุดสูง เมื่อเคี่ยวได้ที่ฟองจะยุบและมีขนาดเล็กละเอียด ช่วงเคี่ยวตั้งแต่น้ำผึ้งฟองใหญ่จนฟองเล็กใช้เวลา ๑๐ ๑๕ นาที

        ทดสอบได้อีกวิธีหนึ่งคือ หยดน้ำผึ้งที่เคี่ยวได้ที่แล้วลงในน้ำที่อุณหภูมิห้องปกติสังเกตดูว่าน้ำผึ้งมีลักษณะอย่างไร ลักษณะน้ำผึ้งที่เคี่ยวได้ที่แล้วจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง และรวมตัวกัน แต่ถ้าหยดลงไปในน้ำแล้วน้ำผึ้งยังเหนียวไม่แข็ง ไม่จับกันเป็นก้อน ต้องเคี่ยวต่อไปอีกและทดสอบดูอีกครั้งหนึ่ง

     ๑.๓ เมื่อเคี่ยวน้ำผึ้งได้ที่ดีแล้ว ให้ยกลงจากเตา กรองด้วยผ้าขาวบางและกวนต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำผึ้งเริ่มเย็น เมื่อน้ำผึ้งเย็นแล้วจึงนำไปผสมกับยาผงในขั้นต่อไป

                ๒. ขั้นตอนการผสมน้ำผึ้งกับยาผง ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะยาจะเป็นเม็ดหรือไม่เป็นก็ขึ้นอยู่กับการผสมน้ำผึ้งกับยาผง มีรายละเอียดดังนี้

                        ๒.๑ นำผงยาที่ชั่งเตรียมไว้เทใส่กะละมังที่แห้งและสะอาด

                        ๒.๒ ตวงน้ำผึ้งที่เคี่ยวได้ที่แล้วค่อย ๆ เทราดบนยาผงทีละทัพพี พร้อมกับใช้มือคลุกเคล้ายาให้เข้ากับน้ำผึ้ง และเทราดน้ำผึ้งพร้อมกับคลุกเคล้าจนยาได้ที่ ซึ่งสังเกตได้โดยหยิบยาที่เคล้าทดลองปั้นเม็ดด้วยมือ ดูว่าเป็นเม็ดดี หรือยาติดนิ้วหรือไม่ ถ้ายาได้ที่แล้วจะไม่ติดนิ้วมือ และบีบเม็ดยาที่ปั้นดูว่ายานั้นแตกร่วนหรือไม่ ถ้ายาไม่แตกร่วนยังเป็นเม็ดเกาะกันดี แสดงว่ายาได้ที่แล้ว ถ้าบีบแล้วยายังแตกร่วนอยู่ แสดงว่ายังเคล้ายาไม่เข้ากับน้ำผึ้ง

                หมายเหตุ ขั้นตอนที่ต้องใช้มือในการคลุกยา ต้องล้างมือให้สะอาดและต้องปล่อยให้มือแห้ง เพราะถ้ามือไม่แห้งสนิทจะทำให้ยามีความชื้นเพิ่มขึ้น จะทำให้ยาขึ้นราได้ หรืออาจจะใส่ถุงมือยางที่สะอาดก็ได้

๓. การปั้นเม็ดเป็นขั้นตอนที่สำคัญเช่นกัน ต้องปั้นให้กลมและขนาดสม่ำเสมอ การปั้นเม็ดทำได้โดยค่อย ๆ แบ่งยาที่ผสมไว้แล้วมาปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๘ เซนติเมตร) การปั้นด้วยมือทำได้ช้า ในขณะที่ปั้น น้ำผึ้งที่ผสมอย่ในผงยาจะแห้งลงเรื่อย ๆ จึงต้องคอยทดสอบดูว่ายาลูกกลอนที่ปั้นได้นั้นบีบแล้วแตกร่วนหรือไม่ ถ้าแตกร่วนแสดงว่าน้ำผึ้งน้อยไป ให้เติมน้ำผึ้งลงไปและผสมให้เข้าที่ จากนั้นจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลอนต่อไป น้ำผึ้งที่ใส่ในยาผงจะต้องพอเหมาะ ถ้ามากไปจะเหลวลูกกลอนไม่เกาะตัว ถ้าน้อยไปลูกกลอนจะร่วนและแตกง่าย

นอกจากการปั้นเม็ดแบบลูกกลอนแล้วยังสามารถใช้วิธีง่าย ๆ โดยเอาน้ำสะอาดผสมคลุกเคล้ากับผงยาสมุนไพรพอชื้น ๆ แล้วใช้เครื่องปั๊มเม็ดยาแบบมือปั๊มยา ทำเป็นยาเม็ดเก็บไว้ใช้ได้

                นำลูกกลอนหรือเม็ดยาที่ได้วางใส่ถาด และไม่ให้เม็ดยาซ้อนกัน นำไปตากแดดจัด ๑ ๒ วันตากเม็ดยาให้แห้งสม่ำเสมอ แต่อย่าตากแดดนานเกินไปจะทำให้เม็ดยาแข็ง เวลารับประทานแล้วละลายตัวยาก เม็ดแห้งแล้วเก็บใส่ขวดที่สะอาดและมิดชิด

การเก็บรักษาสมุนไพร


                  การเก็บรักษาสมุนไพรไว้เป็นเวลานานมักจะเกิดการขึ้นรามีหนอน เปลี่ยนลักษณะสี กลิ่น ทำให้สมุนไพรนั้นเสื่อมคุณภาพลง ทำให้มีผลไม่ดีต่อฤทธิ์การรักษาหรือสูญเสียฤทธิ์การรักษาไปเลย ดังนั้น จึงควรจะมีการจัดการเก็บรักษาที่ดี เพื่อจะประกันคุณภาพและฤทธิ์การรักษาของยาสมุนไพรนั้น การเก็บรักษาควรสนใจสิ่งต่อไปนี้

๑.      ยาที่จะเก็บรักษาไว้จะต้องทำให้แห้งเพื่อป้องกันการขึ้นราและการเปลี่ยนลักษณะเกิดภาวะออกซิไดซ์ (oxidise) ยาที่ขึ้นราง่ายต้องหมั่นเอาออกตากแดดเป็นประจำ

๒.      สถานที่ ที่เก็บรักษาจะต้องแห้ง เย็น การถ่ายเทของอากาศดี

๓.      ควรเก็บแบ่งเป็นสัดส่วน ยาที่มีพิษ ยาที่มีกลิ่นหอม ควรเก็บแยกไว้ในที่มิดชิด ป้องกันการสับสนปะปนกัน

            ๔.      สนใจป้องกัน ไฟ หนอน หนู และแมลง





เทคนิคการเตรียมยาสมุนไพร (ยาชง)


ยาชงเป็นรูปแบบหนึ่งที่เตรียมง่าย ส่วนใหญ่เป็นการใช้ยาสมุนไพรแห้งและเติมน้ำร้อนเป็นตัวทำละลาย ข้อดีของยาชงคือดูดซึมง่าย มักมีกลิ่นหอมและรสชาติที่ดี

วิธีการเตรียมยา

                ยาชงส่วนใหญ่เป็นการนำส่วนของสมุนไพร เช่น ใบหญ้าหนวดแมว, ใบชุมเห็ดเทศ, กลีบรองดอกของกระเจี๊ยบ มาล้างให้สะอาดและผึ่งลมให้แห้ง (บางอย่างนำไปคั่วหรือย่างไฟ) เติมน้ำเดือดลงในสมุนไพรแห้งนั้น ทิ้งไว้ประมาณ ๓ ๕ นาทีก็ใช้ได้ อย่าทิ้งยาชงไว้นานเกินไป จะทำให้สรรพคุณ กลิ่นและรสของยาเปลี่ยนแปลงไป



เทคนิคการเตรียมยาสมุนไพร (ยาต้ม)


ยาต้มเป็นรูปแบบการปรุงยาสมุนไพรที่ใช้มานาน เป็นการใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย (solvent) ยาสมุนไพร ข้อดีของยาต้มคือ ดูดซึมง่าย ออกฤทธิ์เร็ว วิธีการเตรียมง่ายและสะดวกมีข้อเสียคือรสชาติ และกลิ่นอาจรับประทานยากสำหรับบางคน และยาต้มเก็บไว้ได้ไม่นาน ขึ้นราง่าย ถ้าต้องการเก็บไว้จะต้องใช้สารกันบูด

วิธีการเตรียมยาต้ม

๑.      น้ำและภาชนะ
        น้ำที่ใช้ต้มยาควรเป็นน้ำสะอาด ใส ไม่มีสี กลิ่น รส ปริมาณของน้ำที่ใช้ขึ้นอยู่กับปริมาณยาโดยปกติจะใส่น้ำพอท่วมยา ภาชนะที่ใช้ต้มยาควรเป็นหม้อดินเผา หรือหม้อเคลือบ ไม่ควรใช้ภาชนะที่เป็นโลหะ เช่นเหล็กเพราะจะทำให้สารแทนนิน (Tannin) ที่มักพบในยาสมุนไพร ทำปฏิกิริยากับโลหะ ซึ่งจะมีผลต่อฤทธิ์ยาได้

๒.      การเตรียมยาสมุนไพร
        ยาสมุนไพรที่ใช้ต้มควรหั่นเป็นชิ้นขาดพอดี ถ้าเป็นแก่นก็หั่นเป็นชิ้นขนาดเท่า ๆ กัน ถ้าเป็นใบใหญ่ เช่น ชุมเห็ดเทศ ให้หั่นเป็นฝอยแต่ถ้าใบเล็ก เช่น ฟ้าทลายโจร กะเพรา ก็ใช้ทั้งใบ ขนาดไม่ควรเล็กเกินไป เพราะจะทำให้กรองยาต้มยาก และเวลาต้มอาจจะไหม้ได้

๓.      การต้ม
        เติมน้ำสะอาดลงในตัวยา คนให้เข้ากัน แช่ทิ้งไว้สัก ๒๐ ๓๐ นาที ต้องคอยดูแล และคนสม่ำเสมออย่าให้ยาไหม้ (การต้มยาไทยส่วนใหญ่จะต้ม ๓ เอา ๑ คือใส่น้ำ ๓ ส่วน ของปริมาณที่ต้องการใช้ และต้มให้เหลือ ๑ ส่วน) ยาต้มควรรับประทานเวลาท้องว่าง จำนวนครั้งละปริมาณตามที่กำหนดในวิธีใช้ยา

                หมายเหตุ ยาต้มไม่ทิ้งไว้ค้างคืน ต้มรับประทานให้หมดภายในวันเดียว