วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

ชนิดของสารประกอบในพืชสมุนไพร



สารประกอบในพืชสมุนไพรมีมากมายหลายชนิด

๑ อัลคาลอยด์ (Alkaloid) เป็นสารอินทรีย์ที่มีลักษณะเป็นด่างและมีไนโตรเจน (Nitrogen) เป็นส่วนประกอบ มีรสขม ไม่ละลายน้ำแต่ละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic solvent) เป็นสารที่พบมากในพืชสมุนไพร แต่ปริมาณจะต่างกันไปตามฤดูกาล สารประเภทนี้จะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในหลายระบบ ตัวอย่างเช่น Reserpine ในรากระย่อม สรรพคุฯลดความดันเลือด, สาร Quinine ในเปลือกต้นซิงโคนา (Cinchona) มีสรรพคุณรักษาโรคมาลาเรีย และสาร Morphine ในยางของผลฝิ่นมีสรรพคุณระงับการปวดเป็นต้น

๒ น้ำมันหอมระเหย (Volatile oil หรือ Essential oil) เป็นสารที่มีอยู่ในพืช มีลักษณะเป็นน้ำมันที่ได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำ (Steam distillation) มีกลิ่นรสเฉพาะตัว ระเหยได้ง่ายในอุณหภูมิปกติ เบากว่าน้ำ น้ำมันนี้เป็นส่วนผสมของสารเคมีหลายชนิด มักเป็นส่วนประกอบของพืชสมุนไพรที่เป็นเครื่องเทศ คุณสมบัติทางเภสัชวิทยา มักเป็นด้านขับลมและฆ่าเชื้อโรค (Antibacterial และ antifungal) พบในพืชสมุนไพร เช่น กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด ไพล ขมิ้น เป็นต้น

๓ ไกลโคไซด์ (Glycoside) เป็นสารประกอบที่พบมากในพืชสมุนไพร มีโครงสร้างแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นน้ำตาล กับส่วนที่ไม่ได้เป็นน้ำตาลที่เรียกชื่อว่า Aglycone (หรือ Genin) การที่มีน้ำตาล ทำให้สารนี้ละลายน้ำได้ดี ส่วน Aglycone เป็นสารอินทรีย์ ซึ่งมีสูตรโครงสร้างและเภสัชวิทยาแตกต่างกันไป และส่วนนี้เองที่ทำให้คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของ Glycoside แตกต่างกันไป และทำให้แบ่ง Glycoside ได้เป็นหลายประเภท เช่น

·         Cardiac glycoside มีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และระบบการไหลเวียนของโลหิต เช่น สารในใบยี่โถ
·         Anthraquinone glycoside มีฤทธิ์เป็นยาระบาย (laxative), ยาฆ่าเชื้อ (antibiotic) และสีย้อม สารนี้มีในใบชุมเห็ดเทศ เมล็ดชุมเห็ดไทย ใบขี้เหล็ก ใบมะขามแขก เป็นต้น
·         Saponin glycoside  เมื่อเขย่ากับน้ำจะได้ฟองคล้ายสบู่ มักใช้เป็นสารตั้งต้นการผลิตยา ประเภทสเตอรอยด์ เช่น ลูกประคำดีควาย
·         Flavonoid glycoside เป็นสีที่พบในดอกและผลของพืช ทำเป็นสีย้อมหรือสีแต่งอาหาร บางชนิดใช้เป็นยา เช่นสารสีในดอกอัญชัน

๔ แทนนิน (Tannin) เป็นสารที่พบในพืชทั่วไป มีรสฝาด มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน และสามารถตกตะกอนโปรตีนได้ มีฤทธิ์ฝาดสมาน และฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย พบในใบฝรั่ง เนื้อของกล้วยน้ำว้าดิบ

                ยังมีสารอินทรย์ที่พบในพืชทั่วไป เช่น คาร์โบไฮเดรท ไขมัน กรดอินทรีย์ สเตอรอยด์ สารเรซิน สารกัม (gum) วิตามิน จะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้ แต่บางอย่างก็มีฤทธิ์ทางยา เช่น น้ำมันละหุ่งใช้เป็นยาระบาย เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น